จากรูปที่ ๓ วิเคราะห์ได้ว่าในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ – มกราคม ๒๕๕๔ ปริมาณฝุ่นละอองสูง เนื่องจากเป็นฤดูหนาว ความกดอากาศสูง เกิดการสะสมของมลพิษ ก่อนที่จะสูงอีกครั้งในเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ เนื่องจากเข้าช่วงฤดูแล้งมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามฝุ่นละอองลดลงอย่างเห็นได้ชัดในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ เนื่องจากสำนักสิ่งแวดล้อมได้ประสานขอให้สำนักงานเขตพื้นที่เข้มงวดมาตรการลดฝุ่นละออง โดยเฉพาะการเพิ่มความถี่ของการล้างและดูดฝุ่นถนน
จากบทเรียนการจัดการฝุ่นละอองในอดีต พบว่า นโยบายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องกำหนดนโยบายด้านการจัดการคุณภาพอากาศเป็นวาระแห่งเมือง (City Agenda) โดยกำหนดภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อนให้การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองประสบผลสำเร็จ จำเป็นที่จะต้องบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกของกรุงเทพมหานครควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ลดความซ้ำซ้อน โดยต้องมีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียงขึ้น เน้นแก้ปัญหาฝุ่นละออง ด้วยการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ยานพาหนะมลพิษต่ำ ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ผลักดันการใช้ตั๋วร่วมในระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ส่งเสริมการใช้จักรยาน จัดถนนคนเดิน กำหนดเขตปลอดมลพิษ เพิ่มความถี่ของการล้างและดูดฝุ่นถนน ควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างถนน อาคารหรือการขุดถนน เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ควบคุมให้รถบรรทุกต้องมีผ้าใบปิดคลุม เพื่อป้องกันวัสดุฟุ้งปลิว ล้างล้อรถในบริเวณก่อสร้างก่อนออกสู่ถนน เพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือติดตั้งน้ำพุเพื่อดักจับฝุ่นละออง สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ต้องรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาฝุ่นละออง ผ่านพื้นที่สื่อทุกรูปแบบ เพื่อสื่อสารสถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิต ให้ประชาชนทราบและร่วมกันลดฝุ่นละอองให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม
สิงหาคม, ๒๕๕๔