พิธีเปิดศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน เขตลาดกระบังและกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Bangkok Green Community ภายใต้โครงการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชนด้วยชุมชน วันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ณ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
จากนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่มุ่งมั่นให้กรุงเทพมหานคร เป็น “Green City หรือ มหานครสีเขียว” เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชากรลดการพึ่งพาการใช้ทรัพยากร พลังงาน อาหารและน้ำ รวมไปถึงลดการปล่อยของเสียในรูปมลพิษทางดิน น้ำและอากาศให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการโครงการเพื่อสนับสนุนการให้เป็นมหานครสีเขียว หลายโครงการ อาทิเช่น
1.โครงการกรุงเทพฯ เมืองสีเขียว (Bangkok Green City) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมให้ปรับตัว มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขยายเครือข่ายสังคมของประชาชน 8 กลุ่ม จำนวน 800 คน ได้แก่ องค์กรและหน่วยงานภาครัฐ องค์กรสิ่งแวดล้อม ผู้นำชุมชน บริษัทเอกชน ผู้ประกอบการสินค้ากรีน สถานศึกษาโรงเรียนมหาวิทยาลัย สื่อมวลชน และอาสาสมัคร
2.โครงการจัดการมูลฝอยโดยชุมชน (Community Based Solid Waste Management : CBM) เพื่อให้ความรู้ในการจัดการขยะ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจเลือกแนวทางในการจัดการขยะของชุมชน และร่วมดำเนินการคัดแยกขยะ เช่น ขยะรีไซเคิลนำไปขาย เศษอาหาร เศษกิ่งไม้หมักทำปุ๋ยหรือน้ำยาเอนกประสงค์ เป็นต้น ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 314 ชุมชน จาก 2,011 ชุมชน สามารถลดปริมาณขยะได้มากกว่าร้อยละ 24 เช่น ชุมชน-เกตุไพเราะ3-5 ชุมชนเพชราวุธพัน 1 ชุมชนหมู่บ้านธันยกานต์ ชุมชนสมิทธิโชติ เป็นต้น ผลที่ได้คือชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ เป็นชุมชนสะอาด น่าอยู่ ด้วยการลดปริมาณขยะ คัดแยกไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
3.โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชนยิ้มสดใส ซึ่งต่อยอดจากโครงการจัดการมูลฝอยโดยชุมชน (Community Based Solid Waste Management : CBM) โดยร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยวิจัยค้นหารูปแบบการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมชุมชนที่เหมาะสมกับชุมชน 5 ประเภท
ได้แก่ แฟลตและคอนโดมีเนียม หมู่บ้านจัดสรร ชุมชนเมือง ชุมชนชานเมืองและชุมชนแออัด โดยสามารถพัฒนาต้นแบบชุมชนได้ 12 ชุมชน และขยายผลอีก 100 ชุมชน ซึ่งผลการดำเนินการทำให้ชุมชนนำขยะไปใช้ประโยชน์ มากขึ้น สิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น สวยงาม น่าอยู่ยิ่งขึ้น
4. โครงการอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาบุคลากรของกรุงเทพมหานคร ผู้นำชุมชน นักวิชาการ ครูและประชาชนทั่วไป จำนวน 750 คน พร้อมสร้างเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการทำงานด้วยจิตอาสา ผลที่ได้คือประชาชนสามารถปฏิบัติตนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยเฝ้าระวัง รักษา แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
5.โครงการ Clean and Green ที่เน้นการจัดการขยะ น้ำเสียและสุขอนามัยในพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียนและสถานที่ประกอบการ
สำหรับโครงการจัดการขยะและน้ำเสียชุมชนด้วยชุมชน ภายใต้แนวคิด “Bangkok Green Community หรือ ชุมชนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 6 ย่านคลอง ครอบคลุมพื้นที่ 7 เขต ที่มีองค์ประกอบของ ชุมชน ศาสนสถาน สถานศึกษาและสถานประกอบการครบถ้วน พร้อมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะและน้ำเสียชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งหมด 9 ศูนย์เรียนรู้
สำหรับศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน ประจำเขตลาดกระบัง ณ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็น 1 ใน 9 ศูนย์เรียนรู้ จาก 6 ย่านคลอง ที่มีความสำคัญและเป็นต้นแบบกระบวนการบริหารจัดการที่ดี มีความครบวงจรและความพร้อมทั้งบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีสถานที่รองรับการตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ชัดเจน สามารถนำผลผลิตจากการแปรรูปขยะอินทรีย์และประโยชน์ที่ได้รับมาบูรณาการกับการเรียน การสอน และการวิจัยของนักศึกษา
กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ได้แก่ การนำขยะอินทรีย์มาผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) หรือก๊าซมีเทน สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารและกระบวนการอื่นๆ ที่ต้องการใช้ความร้อน โดยก๊าซชีวภาพ 1 ลูกบาศก์เมตร มีค่าความร้อนเท่ากับค่าความร้อนของก๊าซหุงต้ม (Liquefied Petroleum Gas : LPG) 0.46 กก. หรือไฟฟ้า 1.2 kWh และถ่าน 1.6 กก. ส่วนของเหลือจาก ถังหมักสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ปลูกต้นไม้ได้
ส่วนด้านอื่น ๆ ในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ มีทั้งการวิจัยพัฒนาคุณภาพปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์และเศษอาหาร การวิจัยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพและน้ำยาอเนกประสงค์ รวมทั้งด้านการวิจัยพัฒนาคุณภาพการบำบัดน้ำเสียโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งผลการศึกษาวิจัย และพัฒนา สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยรอบต่อไป
*********************************************************
วีดีโอ ภาพกิจกรรม