8 การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม
สถานการณ์ปัจจุบัน
สืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยได้ลงนามรับรองปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อม และการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) เมื่อปี 2535 ซึ่งในหลักการข้อที่ 10 ระบุว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องมี ส่วนร่วมของประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ” กรุงเทพมหานครจำเป็นที่จะศึกษาตั้งแต่บทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย การมีส่วนร่วมของประชาชนในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและ กลุ่มประเทศอาเซียน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในมิติสิ่งแวดล้อมของเอเชียและยุโรป พร้อม ๆ กับการปฏิบัติงานผลักดันให้ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมมือในลักษณะ พหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมือง เป็นแนวทางและกรอบดำเนินงานให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ส่งเสริมให้ประชาชนมี ส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการการพัฒนา ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมืองที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องมีแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ทันสมัยมากขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความเห็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 12 ปี ระยะที่ 2 (พ.ศ.2556 - 2559) โดยครอบคลุมแผนงานและนโยบายสิ่งแวดล้อมโดยเสนออยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 3
ธรรมาภิบาล (good governance) นับเป็นกระแสที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ให้ความสนใจ และนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานขององค์กร ด้วยหลักธรรมาภิบาล ซึ่งประกอบด้วยหลักสำคัญ 6 ประการคือหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักสำนึกรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า เป็นความสอดคล้องกับความรู้สึกและความต้องการของสาธารณะชน และสาธารณะชนก็มีความคาดหวังให้ทุกภาคส่วนมีการปฎิบัติอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงแต่กระแสนิยมเท่านั้น ด้วยผลลัพธ์ของการดำเนินงานด้วยหลักธรรมาภิบาล จะนำมาซึ่งสันติสุขแห่งมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ธรรมาภิบาล ตามในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณท์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มีหลักพื้นฐาน 6 ประการ ดังนี้
-
หลักนิติธรรม (Rule of Law) หมายถึง การตรากฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมาย การกำหนด กฎ กติกา และการปฏิบัติตามกฎกติกาที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพความยุติธรรมของสมาชิก
-
หลักคุณธรรม (Ethics) หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยันอดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจำชาติ
-
หลักความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยการปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส
-
หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอความเห็นในการตัดสินใจ ปัญหาสำคัญของประเทศไม่ว่าด้วยการแจ้งความเห็น การไต่สวนสาธารณะ การประชาพิจารณ์ การแสดงประชามติหรืออื่นๆ
-
หลักสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) หมายถึงการตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมือง และการกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาตลอดจนความเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลดี และเสียจากการกระทำของตนเอง
-
หลักความคุ้มค่า (Value for Money) หมายถึงการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยให้มีองค์กรหรือประชาชนมีความประหยัดใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน
มาตรการที่เสนอแนะในการขับเคลื่อนสู่ความเป็นเมืองสีเขียว
ในปัจจุบันเกณฑ์ความเป็นเมืองสีเขียวในด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้กรุงเทพมหานครอยู่ในระดับดีกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียจำนวน 22 เมือง ดังนั้นกรุงเทพมหานครควรขับเคลื่อนแนวทางและกิจกรรมต่างๆให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 12 ปี พ.ศ.2552-2563 ซึ่งมีแผนงานส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องและเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้