การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านการขนส่งและจราจร
ปัจจุบันเกณฑ์ความเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในด้านการขนส่งและจราจร ซึ่งเน้นด้านการให้บริการขนส่งมวลชนของเมือง ได้จัดให้กรุงเทพมหานครอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งการให้บริการขนส่งมวลชนสำหรับประชาชนของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระยะทางการให้บริการสัญจร 0.04 กิโลเมตรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ย 0.17 กิโลเมตรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรของกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียจำนวน 22 ประเทศ ทางกรุงเทพมหานครได้ตระหนักถึงปัญหาและมีการดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและการปรับปรุงระบบจราจรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีการสนับสนุนให้เกิดระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การใช้ระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ในปัจจุบันได้มีการขยายโครงข่ายเพิ่มเติมเส้นทางรถไฟฟ้าลอยฟ้าอีก 23 กิโลเมตร และเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินอีก 20 กิโลเมตร และสำหรับแผนระยะยาวมีการวางเป้าหมายการเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้าสำหรับการให้บริการขนส่งมวลชนให้ได้ถึง 350 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงและพัฒนาเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง และการพัฒนาระบบโครงข่ายถนน โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 5.53 ล้านตัน
นอกจากนี้การกำหนดราคาค่าโดยสารของระบบโดยสารร่วมต่างๆที่เหมาะสม ก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ต้องมีการพิจารณาเพื่อส่งเสริมการเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนให้กับประชาชนเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การจราจรที่ติดขัดเป็นปัญหาเร่งด่วนสำหรับการเดินทางสัญจรของคนกรุงเทพมหานครทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางมากขึ้น มีอุปสรรคด้านความสะดวกสบายในการเดินทาง ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อให้เกิดการใช้พลังงานมากขึ้นและมีปัญหาด้านมลพิษอากาศและปัญหาโลกร้อนในท้ายที่สุด
การจราจรที่ติดขัดเป็นปัญหาเร่งด่วนสำหรับการเดินทางสัญจร ทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางมากขึ้น มีอุปสรรคด้านความสะดวกสบายในการเดินทาง ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อให้เกิดการใช้พลังงานมากขึ้นและมีปัญหาด้านมลพิษอากาศและปัญหาโลกร้อนในท้ายที่สุด สำหรับมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ขอเสนอแนะดังนี้
มาตรการระยะสั้น:
-
การส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนและทางคมนาคมทางเลือกที่ประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
-
การพัฒนาระบบตั๋วร่วมสำหรับระบบขนส่งมวลชนทุกประเภท
-
การส่งเสริมการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือการเดินทางโดยใช้รถร่วมกัน
-
การส่งเสริมการเดินเท้าและใช้จักรยานในเขตเมืองชั้นใน
มาตรการระยะยาว:
-
การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน
-
การจัดให้มีที่จอดรถสาธารณะ
-
การลดการใช้รถยนต์ในเขตเมืองชั้นใน
-
การพัฒนาระบบทางเดินเท้าและใช้จักรยานในเขตเมืองชั้นในให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน
-
การมีส่วนร่วมกิจกรรมกับนโยบาย “ วันถนนปลอดรถ” หรือ “ no-cars-day” เพื่อร่วมรณรงค์การไม่ใช้รถยนต์ในบางครั้งถ้าไม่จำเป็นหรือหลีกเลี่ยงได้
-
การมีส่วนร่วมในการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจอดที่ลานจอดรถยนต์เพื่อขึ้นรถไฟฟ้าสำหรับเดินทางต่อในเมือง ทั้งนี้ทางกรุงเทพมหานครจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่ให้บริการลานจอดรถยนต์ที่เพียงพอและมีความสะดวกสำหรับผู้มาใช้บริการ
-
การมีส่วนร่วมในการแจ้งข่าวหรือข้อมูลสถานการณ์การจราจรติดขัดในเส้นทางสัญจร และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด