5 การวิเคราะห์สถานการณ์ด้านน้ำและน้ำเสีย
ปัจจุบันเกณฑ์ความเป็นเมืองสีเขียวในด้านการจัดการน้ำและคุณภาพน้ำ จัดให้กรุงเทพมหานครอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย โดยพบว่าอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยของคนกรุงเทพมหานครอยู่ที่ประมาณ 340 ลิตรต่อคนต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการใช้น้ำเฉลี่ย 278 ลิตรต่อคนต่อวันของกลุ่มประเทศในเอเชียจำนวน 22 เมืองที่มีการศึกษา ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่กรุงเทพมหานครมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ โดยประมาณ 90% ของน้ำใช้ในเมืองมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำแม่กลอง อย่างไรก็ตามแหล่งน้ำทั้งสองก็มีการปนเปื้อนจากแหล่งมลพิษต่างๆ ทำให้ต้องมีการบำบัดน้ำด้านคุณภาพน้ำให้ดีเพียงพอสำหรับการนำมาผลิตเป็นน้ำประปา สำหรับการใช้น้ำใต้ดินของพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากปัญหาการสูบน้ำใต้ดินปริมาณมากในอดีต ทำให้เกิดปัญหาแผ่นดินทรุดตัวและยังมีปัญหาของน้ำเค็มแทรกอีกด้วย
ภาพ อัตราการใช้น้ำเฉลี่ยของเมืองต่างๆในทวีปเอเชีย จำนวน 22 เมือง
(ที่มา : Siemens , 2011)
นอกจากนี้ปัญหาของน้ำสูญเสียในระบบท่อจ่ายน้ำประปาของกรุงเทพมหานครสูงถึง 35% ซึ่งมีค่าสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของกลุ่มประเทศในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 22% ดังนั้นจำเป็นจะต้องช่วยกันลดปัญหาของน้ำสูญเสียเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
จากการศึกษาการประเมินของบริษัทซีเมนต์ตามเกณฑ์ความเป็นเมืองสีเขียวในด้านสุขาภิบาลและการจัดการน้ำเสีย จัดให้กรุงเทพมหานครอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย เนื่องจากมีจำนวนประชากรเพียง 51% เท่านั้นที่เข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่ดี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 70% ของจำนวนประชากรที่เข้าถึงระบบสุขาภิบาลที่ดี ของกลุ่มประเทศในเอเชียจำนวน 22 เมืองที่มีการศึกษา สำหรับปริมาณน้ำเสีย พบว่ามีเพียง 42% ของน้ำเสียที่เกิดขึ้นโดยประมาณที่สามารถรวบรวมเพื่อนำไปบำบัดโดยระบบบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร สำหรับน้ำเสียส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการบำบัดมีการปล่อยทิ้งลงคู คลองและแม่น้ำ ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสีย
มาตรการที่เสนอแนะในการขับเคลื่อนสู่ความเป็นเมืองสีเขียว
มาตรการระยะสั้น:
-
การประชาสัมพันธ์และการรณรงค์การใช้น้ำในชีวิตประจำวันอย่างประหยัด
-
การติดตั้งถังดักไขมันครัวเรือน
-
รณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ลำคลอง จัดกิจกรรมอนุรักษ์ลำคลอง
-
รณรงค์การเลิกทิ้งขยะและของเสียลงคลอง
-
การจัดระบบหมุนเวียนน้ำในคลอง เช่น การใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย
มาตรการระยะยาว:
-
ซ่อมแซมจุดที่มีการรั่วไหลในท่อเมนจ่ายน้ำประปาให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นส่วนความรับผิดชอบของการประปานครหลวง เพื่อลดปริมาณน้ำสูญเสียในท่อจ่ายน้ำประปาของกรุงเทพมหานคร
-
การส่งเสริมโครงการระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองให้มีขนาดการบำบัดเพียงพอกับปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น
-
การเพิ่มอัตราการรวบรวมน้ำเสียให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการประชาชน (Sewerage Coverage Ratio) ให้มากที่สุด
-
กรณีของเมืองใหม่ที่กำลังจะพัฒนา ควรมีการออกแบบระบบรวบรวมน้ำเสียเป็นแบบระบบท่อแยก โดยแยกการรวบรวมน้ำเสียออกจากน้ำฝน
-
การส่งเสริมแนวทางของการนำน้ำทิ้งหลังการบำบัดมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชน
1. เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำในชุมชนหรือในบ้านหรือที่ไหนที่เราไปอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำหลัก 3Rs เข้ามาใช้ ดังนี้
Reduce การลดอัตราการใช้น้ำ ได้แก่
-
ประหยัดการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน โดยใช้เท่าที่จำเป็น และยังสามารถลดปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมประจำวันของทุกคนได้ เช่นไม่ควรปล่อยให้น้ำไหลตลอดเวลาตอนล้างหน้า แปรงฟัน โกนหนวด และถูสบู่ตอนอาบน้ำ
-
ไม่ใช้สายยางและเปิดน้ำไหลตลอดเวลาในขณะที่ล้างรถและไม่ล้างรถบ่อยครั้งจนเกินไป เพราะนอกจากจะมีความสิ้นเปลืองน้ำแล้ว ยังทำให้เกิดสนิมที่ตัวถังได้ด้วย
-
ล้างจาน พืชผัก และผลไม้ในอ่างหรือภาชนะที่มีการกักเก็บน้ำไว้เพียงพอ เพราะการล้างด้วยน้ำที่ไหลจากก๊อกน้ำโดยตรง จะใช้น้ำมากกว่า
-
ใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ เช่น ชักโครกประหยัดน้ำ ฝักบัวประหยัดน้ำ ก๊อกประหยัดน้ำ หัวฉีดประหยัดน้ำ หรือติดอุปกรณ์เติมอากาศที่หัวก๊อก เพื่อช่วยเพิ่มอากาศให้แก่น้ำที่ไหลออกจากหัวก๊อกช่วยประหยัดน้ำ และไม่ควรรดน้ำต้นไม้ตอนแดดจัด
-
ตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำในระบบจ่ายน้ำประปาที่บ้านและที่ทำงาน และดำเนินการซ่อมแซมเพื่อลดการรั่วไหลของน้ำในท่อ ข้องอ ข้อต่อ ในกรณีของของระบบประปาภายในอาคาร หรือแจ้งการประปานครหลวง/การประปาภูมิภาคในกรณีของระบบจ่ายน้ำประปานอกอาคาร
Reuse การใช้ซ้ำ ได้แก่
-
การนำน้ำทิ้งที่ยังไม่ปนเปื้อน เช่นน้ำล้างหน้า น้ำล้างมือ น้ำดื่มที่เหลือในแก้วใช้รดน้ำต้นไม้ ใช้ชำระพื้นผิว ใช้ชำระความสะอาดสิ่งต่างๆ
Recycle การนำน้ำทิ้งหลังการบำบัดนำกลับมาใช้ใหม่
-
น้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงงานบำบัดน้ำเสียมีคุณภาพดีนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งใช้ในห้องน้ำ ส้วม และรดน้ำต้นไม้ในสวนสาธารณะ ซักล้างต่างๆ
2. ไม่ทิ้งขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลลงสู่แหล่งน้ำ คูคลอง ท่อระบายน้ำ
3. ติดตั้งถังดักไขมัน และระบบบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนก่อนปล่อยทิ้งสู่แหล่งน้ำ
4. ช่วยกันดูแลแหล่งน้ำ คูคลองในชุมชน เช่นช่วยกันแนะนำตักเตือนผู้ที่ทิ้งขยะลงคูคลอง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคูคลอง หรือมีการรวมกลุ่มเป็นประชาคมคลองร่วมมือกันอนุรักษ์คูคลอง
5. ดูแลรักษาหน้าบ้านริมคลองให้สะอาด
6. ปลูกต้นไม้ประดับริมคลองให้สวยงามร่มรื่น สามารถใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนของคนในชุมชนใกล้เคียงได้
7. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบให้น้ำเน่าเสีย